“แนะนำบัตรเครดิตสำหรับ Intermediate user”

หลังจากแนะนำบัตรเครดิตสำหรับ beginner ไปแล้ว คราวนี้มาดูกันว่าสำหรับท่านที่ใช้บัตรเครดิตมาระยะหนึ่งจนคุ้นเคยแล้วและหน้าที่การงานก้าวหน้าเงินเดือนสูงขึ้นนั่นคืออำนาจการจับจ่ายใช้สอยก็สูงขึ้น บางท่านเริ่มทำประกัน บางท่านมีครอบครัวต้องซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน แอดมินจึงขอเสนอบัตรเพิ่มอีก 3 ใบดังนี้ครับ

[Recommend] “Krungsri First Choice VISA platinum” เทพแห่งบัตรคืนเงิน
– เกณฑ์เงินเดือน 15,000 บาท
– ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก ปีต่อไปฟรีเมื่อมียอดใช้ 18,000 บาท/ปี เฉลี่ย 1,500 บาท/เดือน
– คะแนนปกติ 20 บาท=1 คะแนน แลกเป็นเงินคืนได้ 0.5%
– ความเทพของบัตรนี้คือจะจัดโพรโมชันคืนเงินสูงเป็นรอบ ๆ ไป แต่มีเงื่อนไขยอดขั้นต่ำที่ต้องใช้เช่นรอบล่าสุดต้องใช้ 10,000 บาทขึ้นไป/เดือนจะได้เงินคืน 1.5%+คะแนนปกติแลกเป็นเงินคืน 0.5%=เงินคืนรวม 2% ไม่รวมยอดใช้จ่ายบางอย่างเช่น ยอดรูดประกัน เป็นต้น 
– ถ้าใช้ไม่ถึงยอดขั้นต่ำของโพรโมชัน จะได้แค่คะแนนปกติแลกเป็นเงินคืนได้ 0.5% เท่านั้น จึงเหมาะกับผู้ที่มียอดใช้ต่อเดือนสูงพอสมควรครับ
– แบ่งชำระ 0% 3 เดือนได้สำหรับยอดขั้นต่ำ 1,000 บาท ขึ้นไป/เซลล์สลิป และรวมยอดแบ่งจ่ายเริ่มต้นที่ 3,000 บาท ซึ่งยอดใช้จ่ายนี้จะไม่ได้รับคะแนนสะสม
รายละเอียดเพิ่มเติม>>> https://www.firstchoice.co.th/th/Home.html

[Recommend] “Citi cash back VISA platinum” บัตรเทพของเด็ก(กรุง)เทพ
– เกณฑ์เงินเดือน 15,000 บาท
– ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก ปีต่อไปฟรีเมื่อมียอดใช้ 60,000 บาท/ปี เฉลี่ย 5,000 บาท/เดือน
– เงินคืนทั่วไป 1% สูงสุด 2,000 บาท/บัตร/รอบบัญชี, ยอดชำระค่าประกันก็ได้เงินคืน 1%
– เงินคืนทุกๆ 100 บาท จะเข้าบัญชีบัตรเครดิตของท่านโดยอัตโนมัติ ณ วันตัดรอบบัญชี
– มีเงินคืนหมวดพิเศษคือ เงินคืน 11% เมื่อใช้จ่ายที่ รถไฟฟ้าทุกประเภท (ยกเว้นแอร์พอร์ต เรล ลิงก์) และเงินคืน 5% ที่ Grab ร้านบู๊ทส์ และร้านวัตสัน เฉพาะรายการใช้จ่ายภายในประเทศเท่านั้น ธนาคารฯ จะทำการเครดิตเงินคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตของท่านในเดือนถัดไป จำกัดเครดิตเงินคืนรวมทุกร้านค้าทีร่วมรายการ 500 บาท/เดือน
รายละเอียดเพิ่มเติม>>> https://www.citibank.co.th/welcome/cashback/index.htm#card-agreement
สมัครบัตร Citi ทางออนไลน์ได้ง่ายๆที่>>>https://bit.ly/2niEN6q

[Recommend] “Tesco Lotus VISA platinum” บัตรเทพที่โลตัส
– เกณฑ์เงินเดือน 30,000 บาท
– ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก ปีต่อไปฟรีเมื่อมียอดใช้ 200,000 บาท/ปี เฉลี่ย 16,666 บาท/เดือน (โทรเวฟค่าธรรมเนียมรายปีได้ถ้าใช้ไม่ถึง)
– คะแนนปกติ 20 บาท=1 คะแนน แลกเป็นคูปองเงินสดคลับการ์ดได้ 0.5%
– ใช้จ่ายที่โลตัสไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน จะได้คะแนนพิเศษแลกเป็นคูปองเงินสดคลับการ์ดได้ 3%+คะแนนปกติ 0.5%=รวมเป็น 3.5%(ยอดที่เกินกว่า 15,000 บาทจะได้ 1%+0.5%=1.5%)
– เติมน้ำมันที่ Esso ที่ร่วมรายการรับเงินคืน 3% เข้าบัญชีบัตรเครดิตทันที โดยไม่กำหนดยอดใช้จ่ายขั้นต่ำ แต่จำกัดเงินคืนเฉพาะยอดเติมน้ำมันสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท/สลิป และไม่เกิน 6 ครั้ง/รอบบัญชี 
รายละเอียดเพิ่มเติม>>> https://www.tescolotusfs.com/th/Product/CreditCard/platinum.html

“แนะนำบัตรเครดิตสำหรับ beginner”

บัตรเครดิตเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการก้าวสู่ “สังคมไทยไร้เงินสด” แต่อุปกรณ์นี้ “รูดก่อนจ่ายทีหลัง” จึงเป็นดาบสองคมอยู่ที่ผู้ถือจะใช้ให้เกิดประโยชน์หรือโทษต่อตน

มีสมาชิกเพจหลังไมค์มาถามว่าสำหรับน้องนักศึกษาจบใหม่เงินเดือน 15,000-20,000 บาทสนใจจะลองใช้บัตรเครดิตแต่ไม่รู้จะเริ่มที่ บัตรไหนดี? แอดมินมองว่า beginner ไม่ควรพกหลายใบเพราะจะจัดการลำบาก ใช้แค่ 3 ใบกำลังดีจึงคัด 3 บัตรนี้มาให้พิจารณาดู หวังว่าจะโดนใจนะคร้าบบบ^^

[Recommend] “TMB So Smart VISA platinum” เงินคืน 1% ง่าย ๆ ไม่มีเงื่อนไขซับซ้อน 
– เกณฑ์เงินเดือน 15,000 บาท
– ฟรีค่าธรรมเนียมรายปีโดยไม่มีเงื่อนไข
– เงินคืนทั่วไป 1% สูงสุด 2,000 บาท/บัตร/รอบบัญชี(นั่นคือจำกัดยอดรูดที่ 2 แสนบาท/เดือน น้อง ๆ จบใหม่รูดไม่ถึงอยู่แล้ววว), ยกเว้นยอดชำระค่าประกันไม่ได้เงินคืน
– เงินคืนจะเข้าบัญชีเงินฝาก TMB No Fixed ภายใน 1 วันหลังจากวันสรุปรอบบัญชีบัตรเครดิตรอบถัดไป
– ยอดใช้จ่าย 1,000 บาทขึ้นไป สามารถแบ่งจ่ายได้ ดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน(แต่ยอดนี้จะไม่ได้เงินคืน 1% นะ)
รายละเอียดเพิ่มเติม>>>https://www.tmbbank.com/cards/credit-cards/tmb-sosmart-card.html
สมัครบัตรเครดิต TMB ออนไลน์ได้ง่ายๆที่>>>https://bit.ly/2OUE0Fv

[Recommend] “TBank Diamond platinum MasterCard” เงินคืนเติมน้ำมันง่าย ๆ ไม่มีเงื่อนไขซับซ้อน 
– เกณฑ์เงินเดือน 20,000 บาท
– ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก ปีต่อไปยกเว้นเมื่อใช้ 30,000 บาท/ปี เฉลี่ยยอดใช้ 2,500 บาท/เดือน ยอดไม่สูงจนเกินไปครับ
– คะแนนปกติ 25 บาท=1 คะแนน(แลกเป็นเงินคืน 0.4%)
คะแนนพิเศษ: หมวดร้านอาหาร x2 (แลกเป็นเงินคืน 0.8%) หมวดท่องเที่ยว x3 (แลกเป็นเงินคืน 1.2%) และหมวดต่างประเทศ x4 (แลกเป็นเงินคืน 1.6%)
– เติมน้ำมัน/แก๊ส ไม่มียอดขั้นต่ำและไม่จำกัดปั๊มทั่วโลก ยอดไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน ได้เงินคืน 3.1%+ได้คะแนนปกติแลกเป็นเงินคืน 0.4% รวมเป็นเงินคืนสูงถึง 3.5% (ยอด 5,001-10,000 บาทจะได้เงินคืน 1.5%+0.4%=1.9%)
– ยอดใช้จ่ายสกุลเงินต่างประเทศ สามารถแบ่งจ่ายดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน(แต่ยอดนี้จะไม่ได้แต้มนะ)
รายละเอียดเพิ่มเติม>>> bit.ly/2zedez0
สมัครบัตรเครดิต TBank ออนไลน์ได้ง่ายๆที่>>>https://bit.ly/2OXsPf0

[Recommend] “AEON M GEN VISA” เหนื่อยจากงานก็พักผ่อนดูหนังบ้าง 
– เกณฑ์เงินเดือน 15,000 บาท
– ค่าธรรมเนียมรายปี 214 บาท
– ฟรี บัตรชมภาพยนตร์ระบบดิจิตอล 2D เดือนละ 1 ครั้ง+เดือนเกิดให้ฟรีอีก 1 ครั้ง=ดูหนัง 13 ครั้ง/ปีในราคาเพียง 214 บาทเท่านั้น!!!
รายละเอียดเพิ่มเติม>>> https://bit.ly/2KtRNAz
สมัครบัตรเครดิต AEON ออนไลน์ได้ง่ายๆที่>>>https://bit.ly/2B214z0

ปล สำหรับบัตรอื่นที่แนะนำให้เริ่มใช้คือบัตรเครดิตที่ฟรีค่าธรรมเนียมรายปีโดยไม่มีเงื่อนไขเช่น SCB UP2ME, Krungsri VISA platinum, KTC VISA platinum เป็นต้นครับ

“กำเนิด Priority Pass”

ประสบการณ์ในสนามบินเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ วันนี้แอดมินจะมาเล่าถึง Priority Pass บัตรเบ่งที่สนามบินให้ฟังกันครับ><

Colin Robert Evans(เกิด กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947) ชาวอังกฤษผู้หลงใหลในการเดินทางท่องเที่ยว หลังจบการศึกษาเขาใฝ่ฝันจะเป็นสจ๊วต(steward)ของสายการบิน British Airways แต่ก็ผิดหวังจึงต้องไปทำงานที่บริษัทโบรกเกอร์ประกันภัย 

วันหนึ่งขณะ Evans กำลังประสบกับความสับสนวุ่นวายของสนามบินนาริตะขาออก พลันเหลือบไปเห็นลูกค้าบินชั้นหนึ่ง(first class) กำลังสุขสบายกับความสงบของเลานจ์ในสนามบิน เหตุการณ์นี้จุดประกายความคิดให้เขาทำบัตรแรกในโลกที่มีสิทธิ์เข้าเลานจ์สนามบินนานาชาติไม่ว่าจะบินกับสายการบินใดชั้นใดก็ตาม ไม่ต้องสมัครสมาชิกสายการบินและบินสะสมไมล์จนครบให้วุ่นวาย

ค.ศ. 1991 เขาก่อตั้งบริษัท Collinson Group เพื่อให้บริการลูกค้าระดับพรีเมียม หนึ่งปีต่อมา ค.ศ. 1992 บัตร Priority Pass ก็ออกสู่ตลาด เริ่มแรกเข้าได้ 55 เลานจ์ในสนามบิน 49 แห่ง ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ Evans ได้รับรางวัล “Loyalty Lifetime Achievement Mega Award” จากงาน Travel Mega Awards ประจำปีค.ศ. 2011 ที่ไมอามี

ค.ศ. 2017 Priority Pass พึ่งฉลองครบรอบ 25 ปี ปัจจุบันใช้สิทธิ์ได้กว่า 1,000 เลานจ์ใน 130 ประเทศ 500 เมืองทั่วโลกมีแอปพลิเคชันในมือถือด้วย สามารถตรวจสอบเวลาเปิด-ปิดของเลานจ์และที่ตั้งว่าอยู่ที่ใด(อย่าลืมดูว่าอยู่ก่อนหรือหลังด่านตรวจคนเข้าเมือง) 

บัตร Priority Pass(PP) สามารถซื้อได้นะครับ(รายละเอียดราคาดูที่ https://www.prioritypass.com/en) แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีที่ได้รับจากบัตรเครดิตของไทยซึ่งมีหลายสำนักด้วยกันดังนี้

สำนัก AMEX
มอบบัตร PP ให้กับ AMEX Platinum charge card ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริมอีก 4 ใบ ใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง ไม่มีผู้ติดตาม

สำนัก BBL
มอบบัตร PP ให้กับ BBL Infinite เฉพาะบัตรหลัก ใช้ได้ไม่จำกัดครั้งพร้อมผู้ติดตาม 1 คน

สำนัก Central T1
1) Central T1 Luxe จะได้รับบัตร PP เมื่อใช้จ่ายสกุลต่างประเทศระหว่างเดือน มกราคม-ธันวาคม 2 แสนบาทขึ้นไป โดยจะได้รับบัตรประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป บัตรมีอายุ 1 ปี ใช้ได้ 2 ครั้ง/ปี ไม่มีผู้ติดตาม
2) Central T1 Black บัตร PP มาพร้อมกับบัตรเครดิตเลย ได้เฉพาะบัตรหลัก มีอายุ 5 ปี ใช้ได้ 4 ครั้ง/ปี ไม่มีผู้ติดตาม
3) Central T1 The Black บัตร PP มาพร้อมกับบัตรเครดิตเลย ได้ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม มีอายุ 5 ปี ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและไม่จำกัดผู้ติดตาม

สำนัก Citibank
1) Citi Prestige ได้ PP ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม ใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง ไม่มีผู้ติดตาม (บัตรเสริมจะได้รับ PP ปีต่อไปเมื่อใช้ครบ 3 แสนบาท/ปี)
2) Citi Premier ได้ PP เมื่อมียอดใช้จ่าย 1 ล้านบาท/ปี 
3) Citi Ultima ได้ PP เฉพาะบัตรหลัก ใช้ได้ไม่จำกัดครั้งพร้อมผู้ติดตาม 1 คน
4) Citi Ultima Metal ได้ PP ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม ใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง ไม่มีผู้ติดตาม

สำนัก KBank
มอบบัตร PP ให้กับ Wisdom บัตรหลัก 1 ใบ ใช้ได้ไม่จำกัดครั้งพร้อมผู้ติดตาม 1 คน ใช้สิทธิ์ได้เฉพาะสนามบินต่างประเทศ *ที่สนามบินสุวรรณภูมิเข้าได้เฉพาะเลานจ์ Wisdom*
หมายเหตุ: AUM ที่เกิน 10 ล้าน ทุก ๆ 10 ล้านขอบัตร PP ให้บัตรเสริมได้ 1 ใบ

สำนัก KTC
มอบบัตร PP ให้กับ KTC-KTB Precious Plus VISA Infinite ใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง พร้อมผู้ติดตาม 1 คน

สำนัก SCB
1) SCB First มอบบัตร PP ให้เฉพาะบัตรหลัก ใช้ได้พร้อมผู้ติดตาม 1 คน จำกัด 1 เลานจ์/สนามบิน *ใช้สิทธิ์ได้เฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กรณีเดินทางภายในประเทศ* 
2) SCB Private Banking มอบบัตร PP ให้เฉพาะบัตรหลัก ใช้ได้พร้อมผู้ติดตาม 1 คน จำกัด 1 เลานจ์/สนามบิน *ใช้สิทธิ์ได้เฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กรณีเดินทางภายในประเทศ* 
3) SCB M LEGEND ได้เฉพาะบัตรหลัก ใช้ได้ 4 ครั้ง/ปี ไม่มีผู้ติดตาม

สำนัก Krungsri 
เดิมให้บัตร PP กับ Krungsri Exclusive แต่ปี 2019 เปลี่ยนเป็นให้ใช้ Dragon pass ผ่านแอป UCHOOSE เฉพาะบัตรหลัก ไม่มีผู้ติดตาม กรณี AUM 30 ล้านบาทขึ้นไปใช้ได้ 4 ครั้ง/ปี และ AUM 5-29.9 ล้านบาท ใช้ได้ 2 ครั้ง/ปี

ค.ศ. 2016 Collinson Group จับมือกับ MTT บริษัทชั้นนำด้านดิจิทัลพัฒนาแอปพลิเคชัน LoungeKey สำหรับเข้าเลานจ์กว่า 900 แห่งใน 450 เมืองทั่วโลก ไม่มีการออกบัตรให้เหมือน Priority Pass แต่ใช้วิธีแสดงบัตรเครดิตแทน

เป็นที่น่าสังเกตว่าบัตรเครดิตระดับสูงของไทยที่เปิดตัว 4 บัตรล่าสุดไม่มีสำนักไหนให้ Priority Pass เลย ล้วนใช้บริการ LoungeKey(https://www.loungekey.com/) ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น 

– TBank Black Diamond ใช้สิทธิ์ LoungeKey ได้ 2 ครั้ง/ปี ใช้ได้ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริมโดยนับสิทธิ์รวมกัน
– GSB Infinite Banking ใช้สิทธิ์ LoungeKey ใช้ได้ 10 ครั้ง/ปี มีผู้ติดตามได้ 1 คน
– UOB Infinite ใช้สิทธิ์ LoungeKey บัตรหลักใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง บัตรเสริมใช้ได้ 3 ครั้ง/ปี
– UOB Lady’s Solitaire World Mastercard ใช้สิทธิ์ LoungeKey ได้ 2 ครั้ง/ปี

Priority Pass มีการมอบรางวัลเลานจ์สนามบินที่ดีที่สุดในโลกเป็นประจำทุกสิ้นปี โดย Priority Pass 2017 Global Airport Lounge of the Year Award ได้แก่

Global: Club Kingston at Kingston Norman Manley International
Europe: Tallinn Airport Business Lounge at Lennart Meri Tallinn Airport
Africa & Middle East: Ahlan Business Class Lounge at Dubai International
Asia Pacific: SATS Premier Lounge at Singapore Changi International
North America: Salon VIP Lounge, Québec Jean Lesage International

รางวัลเลานจ์ที่ดีที่สุดในเอเชียตกเป็นของสนามบิน Changi ประเทศสิงคโปร์ สมาชิกเพจเคยใช้บริการกันไหมดีอย่างไรบ้างครับ? หรือใช้บริการ Priority Pass/LoungeKey แล้วชื่นชอบเลานจ์สนามบินไหนแชร์กันได้นะคร้าบบบ^^

อ้างอิง
https://www.ft.com/content/32ae9da8-a26d-11e5-8d70-42b68cfae6e4
https://www.prioritypass.com/en/press/2017/lounge-of-the-year-award-2017

“กำเนิดเครื่องเอทีเอ็ม”


ภาพพระราชทาน โดยพระราชานุญาต

วันหนึ่งในปีค.ศ. 1965 นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ John Adrian Shepherd-Barron (1925–2010) ผู้จัดการบริษัทพิมพ์ธนบัตร De La Rue เดินทางไปธนาคารเพื่อขึ้นเงินจากเช็คในช่วงสุดสัปดาห์แต่ว่าไปช้าเพียง 1 นาทีหลังเวลาปิดทำการทำให้ต้องรอขึ้นเงินในวันเปิดทำการถัดไป(เป็นใครก็หงุดหงิด)

ขณะนอนแช่น้ำในบ้านเครื่องจำหน่ายช็อกโกแลตอัตโนมัติได้ผุดขึ้นมาในความคิดของเขาและเกิดไอเดียว่าก็เปลี่ยนจากจำหน่ายช็อกโกแลตเป็นจำหน่ายเงินสดแทนสิ เขาเสนอแนวคิดนี้ให้กับผู้บริหารธนาคารบาร์เคลย์ (Barclays) ซึ่งเห็นดีเห็นงามด้วย เครื่องถอนเงินอัตโนมัติเครื่องแรกของโลก De La Rue Automatic Cash System (DACS) จึงกำเนิดขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “BARCLAYCASH” [ปัจจุบันเรียกว่าเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติหรือตู้เอทีเอ็ม (Automatic teller machine: ATM)]

ธนาคารบาร์เคลย์ สาขาเอ็นฟิลด์(Enfield) ในตอนเหนือของกรุงลอนดอน ให้บริการตู้เอทีเอ็มเป็นเครื่องแรกของโลก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1967 ในวันเปิดตัวได้รับเกียรติจาก Sir Thomas Bland รองประธานธนาคารทำการเปิดม่าน ในขณะที่นักแสดงตลกชาวอังกฤษ Reginald Alfred “Reg” Varney (1916–2008) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากซิตคอมเรื่อง “On the Buses” ได้ทำการถอนเงินเป็นคนแรกโดยใช้ใบสั่งจ่ายพิเศษที่ทำจากกระดาษและกดใส่รหัส(PIN)

ตอนแรก Shepherd-Barron เสนอว่ารหัสสำหรับกดเงินควรมีความยาว 6 หลัก แต่เนื่องจากทดสอบกับภรรยา Caroline แล้วพบว่าจำรหัสได้สูงสุดแค่ 4 หลักเขาจึงปรับลดเป็น 4 หลัก เนื่องจากต้องฝังเครื่องอยู่ในผนังเขาจึงจดลิขสิทธิ์ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “Hole in the Wall(รูในผนัง)”

ตู้เอทีเอ็มนี้ถอนเงินได้เพียงครั้งละ 10 ปอนด์เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้สร้างความตื่นเต้นและแปลกใหม่ให้กับผู้คนสมัยนั้นมาก ธนาคารบาร์เคลย์ตกลงที่จะติดตั้งตู้เอทีเอ็มชุดแรก 6 ตู้ และต่อมาขยายเป็น 50 ตู้

ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดให้บริการเงินด่วนเอทีเอ็มเป็นธนาคารแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2526(ค.ศ. 1983) การเริ่มต้นใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเป็นตู้เอทีเอ็มที่ไม่ได้ติดตั้งที่สาขาธนาคารแต่เป็นที่ตึกธุรการที่ประทับ พระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นบุคคลแรกที่มาทดลองใช้บริการและพระราชทานบัตรให้แก่ธนาคารฯ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยจึงนำมาจัดแสดงไว้ให้ประชาชนได้ชม

สำหรับตู้เอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์ตู้แรกที่นำร่องให้บริการต่างจังหวัดคือที่พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ครับ

ระยะแรกบริการเอทีเอ็มในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายแบงก์เนต นำโดยธนาคารกรุงเทพ และเครือข่ายสยามเนต นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ต่อมาเพื่อความสะดวกแก่ประชาชนในปี พ.ศ. 2536(ค.ศ. 1993) ธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวมกันจัดตั้งเครือข่ายเอทีเอ็มเป็นเครือข่ายเดียวทั่วประเทศเรียกว่า ATM Pool ธุรกรรมที่ทำผ่านเครื่องเอทีเอ็มจะส่งไปประมวลผลผ่านบริษัทศูนย์ประมวลผล จำกัด (Processing Center Company Limited: PCC) ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท National ITMX นั่นเอง

พ.ศ. 2536(ค.ศ. 1993) ธนาคารกรุงเทพพลิกปรากฎการณ์ ATM ของไทย เปิดตัว “บัตรบัวหลวงพรีเมียร์” บัตร ATM ไทยใบแรกที่ใช้ได้ทั่วโลก เบิกเงินสดที่ตู้ใดก็ได้ในเครือข่าย PLUS(โฆษณาเปิดตัวบัตรบัวหลวงพรีเมียร์>>> https://www.youtube.com/watch?v=d_pYIob7Wuo) จากนั้นพัฒนามาเป็นบัตรเดบิต VISA Electron ที่ใช้จ่าย เบิกถอนได้ทั่วโลก อย่าง Be1st

ค.ศ. 2007 Shepherd-Barron ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่าพึ่งเห็นความสำคัญของสิ่งประดิษฐ์ของเขาเมื่อตอนมาเที่ยวเชียงใหม่กับภรรยา นอกจากนี้ยังได้ทำนายไว้ว่าอีกไม่กี่ปีคนจะไม่ใช้เงินสดแต่ใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน น่าเสียดายเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2010 ก่อนสิ่งที่ทำนายไว้จะเริ่มเป็นจริง

พ.ศ. 2552(ค.ศ. 2009) ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ริเริ่มบัตรเดบิตติดชิพอัจฉริยะ EMV อย่างบัตรเดบิต Be1st Smart – VISA ก่อนจะหันหลังให้กับ VISA แล้วมาพัฒนาบัตรเดบิต Be1st Smart มาตรฐานชิพการ์ดไทยที่มีระบบ Chip and PIN เป็นธนาคารไทยแห่งแรก ร่วมกับ Thai Payment Network(TPN) – China UnionPay โดยใช้ PIN 6 หลักตามที่ Shepherd-Barron ตั้งใจไว้แต่แรก นำไปสู่มาตรฐานบัตรเดบิตของไทยในเวลาต่อมา

ที่มา:
http://news.bbc.co.uk/2/hi/business/6230194.stm
https://www.theguardian.com/money/gallery/2007/jun/27/1
http://www.thaibankmuseum.or.th/museum305_2.php

“บัตรเครดิตผูกบัญชีเป็นเอทีเอ็ม”

อีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตคือการผูกกับบัญชีธนาคารใช้เป็นบัตรเอทีเอ็มได้ แต่มีแค่ 4 สำนักเท่านั้นที่มีบริการนี้ครับ

1. TMB ใช้บริการได้เหมือนบัตรเอทีเอ็มทุกประการ
ค่าธรรมเนียมรายปี ฟรี!!!
*ไม่มีบริการนี้สำหรับลูกค้าใหม่แล้ว*

2. BBL ใช้กดเงินสดจากบัญชีเหมือนบัตรเอทีเอ็มได้เท่านั้น โอนเงินไม่ได้
ค่าธรรมเนียมรายปี ฟรี!!!
***ระวัง!!! เวลากดเงินต้องเลือกจากบัญชีออมทรัพย์และกดระบุจำนวนเงิน ถ้าเผลอกดถอนด่วนจะถือเป็นการกดเงินสดจากบัตรเครดิตซึ่งมีค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย***
(ป้องกันความผิดพลาดได้โดยโทรแจ้งคอลเซ็นเตอร์ว่าให้ระงับการกดเงินสดจากบัตรเครดิตครับ)

3. KBank ใช้บริการได้เหมือนบัตรเอทีเอ็ม(เกือบ)ทุกประการ
ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท(เริ่มคิดค่าธรรมเนียม มิ.ย. 2557)
*เฉพาะบัตร KBank Wisdom เท่านั้นที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้*

4. SCB ใช้บริการได้เหมือนบัตรเอทีเอ็มทุกประการ
ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท(เริ่มคิดค่าธรรมเนียม มี.ค. 2557)
*บัตร SCB First และ Private Banking ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้โดยจำกัด 1 บัญชีครับ* 

ใช้บริการได้เหมือนบัตรเอทีเอ็มทุกประการ หมายถึง

สามารถใช้กดเงินจากตู้เอทีเอ็มต่างประเทศได้ด้วย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อรายการเช่นเดียวกับบัตรเดบิต(ในส่วนนี้บัตร KBank ทำไม่ได้ครับ) 

ส่วนการกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในประเทศเครือ ATM Pool สามารถกดถ่อนด่วนได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการกดแบบ Cash Advance จากบัตรเครดิตครับ ถ้าจะกด Cash Advance จากวงเงินบัตรเครดิต จะกดยากหน่อยคือต้องเลือกกดจากบัตรเครดิตและกดระบุจำนวนเงินถึงจะทำได้ครับ

ส่วนการใช้งานอื่นๆ ทั้งฝาก ถอน โอน จ่าย รวมถึงการสมัครใช้บริการต่าง ๆ ซื้อ-ขาย กองทุน สามารถทำได้เช่นเดียวกับบัตร เอทีเอ็มทุกประการครับ

ปล เผื่อใจไว้สักนิดว่าตู้เอทีเอ็มอาจจะกินบัตรเครดิตไป ขอออกบัตรใหม่ต้องใช้เวลาหน่อยนะ

“ระยะปลอดดอกเบี้ยของบัตรเครดิต”

บัตรเครดิตมีข้อดีหลายอย่างหนึ่งในนั้นคือให้เราใช้บัตรโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินทันที สำนักบัตรเครดิตจะเว้นระยะเวลาไว้ให้ช่วงหนึ่งซึ่งถ้าเราชำระเงินภายในช่วงเวลานั้นจะไม่เสียดอกเบี้ยใด ๆ จึงเรียกว่า “ระยะปลอดดอกเบี้ย(interest free period)” 

มีศัพท์เกี่ยวกับวันในบิลบัตรเครดิต 4 อันที่ควรรู้คือ
– transaction date คือ วันที่เราใช้บัตร
– posting date คือ วันบันทึกรายการเป็นวันที่ร้านเรียกเก็บเงินไปยังสำนักบัตรเครดิต อาจจะเรียกเก็บวันที่เราใช้บัตรเลยหรือวันหลังก็ได้ 
– statement date คือ วันสรุปยอด 
– due date คือ วันครบกำหนดชำระเงิน

grace period หมายถึงช่วงเวลาระหว่างวันสรุปยอดกับวันครบกำหนดชำระเงิน ตรงนี้แหละที่บัตรแต่ละสำนักแตกต่างกันทำให้ระยะปลอดดอกเบี้ยต่างกันด้วย โดย

ระยะปลอดดอกเบี้ยต่ำสุดคือ grace period+1 วัน 

ระยะปลอดดอกเบี้ยสูงสุดคือ 

grace period+30 วัน สำหรับ AEON, BBL, First choice, KBank, Krungsri, KTC, TBank, Tesco Lotus, Tisco 

และ grace period+31 วัน สำหรับ AMEX, BOC, Central T1, Citi, GSB, ICBC, SCB, TMB, UOB

คิดกรณี 1 เดือนมี 30 วัน สมมติว่าวันสรุปยอดคือทุกวันที่ 10 ของเดือน และวันครบกำหนดชำระเงินคือทุกวันที่ 2 ของเดือน (grace period=22 วัน) 

ถ้าเราใช้บัตรเครดิตวันที่ 11 พฤศจิกายน จะสรุปยอดวันที่ 10 ธันวาคม ครบกำหนดชำระเงินวันที่ 2 มกราคม นั่นคือระยะปลอดดอกเบี้ยนับจากวันใช้บัตรอยู่ที่ 52 วัน 

กรณีเราใช้บัตรเครดิตวันที่ 10 พฤศจิกายน ถ้าร้านเรียกเก็บวันนั้นเลยจะสรุปยอดวันที่ 10 พฤศจิกายน ครบกำหนดชำระเงินวันที่ 2 ธันวาคม นั่นคือระยะปลอดดอกเบี้ยนับจากวันใช้บัตรอยู่ที่ 23 วันเท่านั้นเอง สรุปได้ว่าบัตรเครดิตใบนั้นมีระยะปลอดดอกเบี้ยที่ 23-52 วัน 

ในทางการตลาดนั้นสำนักบัตรเครดิตมักจะหยิบยกมาเฉพาะว่าระยะปลอดดอกเบี้ยสูงสุด 52 วัน(ทำให้ลูกค้าบางท่านเข้าใจผิดว่าปลอดดอกเบี้ย 52 วันทุกยอดใช้จ่าย) 

โม้มานานแล้วถึงเวลาไปดูกันว่าแต่ละสำนักมีระยะปลอดดอกเบี้ยเท่าไหร่กันบ้าง วันสรุปยอดและวันครบกำหนดชำระเป็นอย่างไร

AEON 
grace period=22 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 23-52 วัน
วันสรุปยอด 10 วันกำหนดชำระเงิน 2

ปล มีวันสรุปยอดวันเดียว ทำให้สิ้นเดือนจะเห็นคนเข้าแถวยาว ๆ รอจ่ายเงินที่ตู้ AEON จนเป็นภาพที่ชินตา

AMEX 
grace period=24 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 25-55 วัน
วันสรุปยอด 8 วันกำหนดชำระเงิน 2 
วันสรุปยอด 13 วันกำหนดชำระเงิน 7

BBL 
grace period=15 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 16-45 วัน
วันสรุปยอด 3 วันกำหนดชำระเงิน 18
วันสรุปยอด 7 วันกำหนดชำระเงิน 22
วันสรุปยอด 10 วันกำหนดชำระเงิน 25
วันสรุปยอด 22 วันกำหนดชำระเงิน 7
วันครบกำหนดชำระเงินตรงกับวันหยุดก็ไม่เลื่อน


BOC 
grace period=21 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 22-52 วัน
วันสรุปยอด 27 วันกำหนดชำระเงิน 18


Central T1 
grace period=19 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 20-50 วัน
วันสรุปยอด 2 วันกำหนดชำระเงิน 21
วันสรุปยอด 15 วันกำหนดชำระเงิน 5
วันสรุปยอด 18 วันกำหนดชำระเงิน 7
วันสรุปยอด 25 วันกำหนดชำระเงิน 14
วันสรุปยอด 28 วันกำหนดชำระเงิน 17

Citi 
grace period=14 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 15-45 วัน
วันสรุปยอด 10 วันกำหนดชำระเงิน 25
วันสรุปยอด 13 วันกำหนดชำระเงิน 28
วันสรุปยอด 17 วันกำหนดชำระเงิน 1
วันสรุปยอด 25 วันกำหนดชำระเงิน 9
แจ้งเปลี่ยนวันสรุปยอดได้ปีละ 1 ครั้ง

ปล ถ้าเดือนนี้ชำระไม่เต็มจำนวน เดือนถัดไป Citi จะยืดวันครบกำหนดชำระออกไปให้อีก 5 วัน

GSB 
grace period=14 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 15-45 วัน
วันสรุปยอด 18 วันกำหนดชำระเงิน 2

First choice 
grace period=20 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 21-50 วัน
วันสรุปยอด 1 วันกำหนดชำระเงิน 21
วันสรุปยอด 15 วันกำหนดชำระเงิน 5
วันสรุปยอด 23 วันกำหนดชำระเงิน 13

ICBC 
grace period=25 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 26-56 วัน
วันสรุปยอด สิ้นเดือน วันกำหนดชำระเงิน 25

ปล มีวันสรุปยอดเพียงวันเดียวไม่มีวันอื่นให้เลือก

KBank 
grace period=15 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 16-45 วัน
วันสรุปยอด 5 วันกำหนดชำระเงิน 20
วันสรุปยอด 10 วันกำหนดชำระเงิน 25
วันสรุปยอด 17 วันกำหนดชำระเงิน 2
วันสรุปยอด 20 วันกำหนดชำระเงิน 5
วันสรุปยอด 25 วันกำหนดชำระเงิน 10
หากวันครบกำหนดชำระตรงวันหยุดจะเลื่อนออกไปให้ตรงวันทำการวันแรก

Krungsri 
grace period=20 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 21-50 วัน
วันสรุปยอด 2 วันกำหนดชำระเงิน 22
วันสรุปยอด 5 วันกำหนดชำระเงิน 25
วันสรุปยอด 9 วันกำหนดชำระเงิน 29
วันสรุปยอด 10 วันกำหนดชำระเงิน 30
วันสรุปยอด 12 วันกำหนดชำระเงิน 2
วันสรุปยอด 18 วันกำหนดชำระเงิน 8
วันสรุปยอด สิ้นเดือน วันกำหนดชำระเงิน 20


KTC 
grace period=15 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 16-45 วัน
วันสรุปยอด 6 วันกำหนดชำระเงิน 21
วันสรุปยอด 9 วันกำหนดชำระเงิน 24
วันสรุปยอด 17 วันกำหนดชำระเงิน 2
วันสรุปยอด 21 วันกำหนดชำระเงิน 6

SCB 
grace period=20 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 21-51 วัน
วันสรุปยอด 5 วันกำหนดชำระเงิน 25
วันสรุปยอด 9 วันกำหนดชำระเงิน 29
วันสรุปยอด 11 วันกำหนดชำระเงิน 1
วันสรุปยอด 16 วันกำหนดชำระเงิน 6
วันสรุปยอด 18 วันกำหนดชำระเงิน 8
วันสรุปยอด 23 วันกำหนดชำระเงิน 13

หากวันสรุปยอดตรงวันหยุดจะเลื่อนเป็นเร็วขึ้นให้ตรงวันทำการวันสุดท้าย
หากวันครบกำหนดชำระตรงวันหยุดจะเลื่อนออกไปให้ตรงวันทำการวันแรก
แจ้งเปลี่ยนวันสรุปยอดได้ปีละ 2 ครั้ง

TBank 
grace period=25 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 26-55 วัน
วันสรุปยอด 2 วันกำหนดชำระเงิน 27
วันสรุปยอด 5 วันกำหนดชำระเงิน 30
วันสรุปยอด 7 วันกำหนดชำระเงิน 2
วันสรุปยอด 12 วันกำหนดชำระเงิน 7
วันสรุปยอด 17 วันกำหนดชำระเงิน 12
วันสรุปยอด 22 วันกำหนดชำระเงิน 17
วันสรุปยอด 27 วันกำหนดชำระเงิน 22


Tesco Lotus 
grace period=20 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 21-50 วัน
วันสรุปยอด 5 วันกำหนดชำระเงิน 25
วันสรุปยอด 7 วันกำหนดชำระเงิน 27
วันสรุปยอด 9 วันกำหนดชำระเงิน 29
วันสรุปยอด 28 วันกำหนดชำระเงิน 18

TMB 
grace period=19 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 20-50 วัน
วันสรุปยอด 12 วันกำหนดชำระเงิน 1
วันสรุปยอด 20 วันกำหนดชำระเงิน 9
วันครบกำหนดชำระเงินตรงกับวันหยุดก็ไม่เลื่อน
เปลี่ยนวันสรุปยอดไม่ได้


UOB 
grace period=24 วัน
ระยะปลอดดอกเบี้ย 25-55 วัน
วันสรุปยอด 7 วันกำหนดชำระเงิน 31
วันสรุปยอด 15 วันกำหนดชำระเงิน 8
วันสรุปยอด 20 วันกำหนดชำระเงิน 13
วันสรุปยอด 22 วันกำหนดชำระเงิน 15







“Merchant Category Code(MCC) คืออะไร?”

รหัสผู้ค้า (Merchant Category Code: MCC) คือรหัสตัวเลข 4 หลักที่ทางค่ายผู้ออกบัตรเครดิตเช่น VISA, MasterCard, American Express ออกให้กับร้านค้าที่รับบัตรเครดิตเพื่อระบุประเภทของธุรกิจนั้นๆ ดูฉบับเต็มได้ที่ https://www.dm.usda.gov/procurement/card/card_x/mcc.pdf

ค.ศ. 2004 กรมสรรพากรของสหรัฐอเมริกา(Internal Revenue Service: IRS) ได้นำ MCC ไปใช้ในการจัดเก็บรายงานโดยย่อเป็น IRS list ดังนี้https://www.irs.gov/irb/2004-31_IRB/ar17.html#d0e1647

มันมาเกี่ยวกับผู้บริโภคอย่างเราก็ตรงที่ทางธนาคารสำนักต่างๆ นำรหัสนี้ไปใช้เวลาออกโพรโมชันบางอย่างด้วยว่าจำกัดเฉพาะ MCC หมวดนั้นหมวดนี้ แอดมินจึงนำ MCC หมวดที่มักจะเจอ บ่อยๆมาให้ชมกันครับ

มีข้อควรระวังเช่น ร้านอาหารในโรงแรมมักจะใช้เครื่องรูดของโรงแรม MCC ก็จะเป็นหมวดโรงแรมไม่ใช่หมวดร้านอาหารนะครับ หรืออย่างร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าอาจจะใช้เครื่องรูดของห้างฯ MCC ก็จะไม่ใช่หมวดร้านอาหาร เป็นต้น

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องรูดบัตรของร้านนี้ MCC อะไร? ถามเจ้าของร้านอาจจะรู้แต่ก็ไม่อยู่เสียนี่ ถามแคชเชียร์อาจจะรู้หรือไม่รู้แล้วแต่ดวง แต่ถามคอลเซ็นเตอร์ธนาคารไม่รู้หรอกครับต้องรูดบัตรไปก่อนพอร้านค้าทำบันทึกรายการส่งมาธนาคารถึงจะรู้ การไม่รู้ MCC ทำให้เกิดดราม่าอยู่เนืองๆเรื่องรูดบัตรแล้วไม่ได้โปรครับ^^”

ปล ในเซลล์สลิปก็ไม่มีบอก MCC นะคร้าบบบ ผู้บริโภคเสียเปรียบชะมัด ไม่รู้จะผลักดันอย่างไรให้มีกฎว่าร้านค้าต้องติดป้ายบอก MCC ที่เครื่องรูดด้วย

“มารู้จักความหมายของเลขบัตรเครดิต/เดบิตกันครับ”

เลขบัตรเครดิตที่เห็นยาว ๆ กันนั้นประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ BIN กับ PAN ครับ

“ส่วนแรก BIN”

. ตัวเลข 6 ตัวแรกเรียกว่า Issuer หรือ Bank Identification Number(IIN หรือ BIN) พัฒนาขึ้นมาโดย International Organization for Standardization (ISO) มี American Bankers Association เป็นหน่วยงานจัดสรรหมายเลข IIN

เลขตัวแรกของ IIN เรียกว่า Major Industry Identifier (MII) เป็นตัวบ่งบอก ประเภทของธุรกิจที่ออกบัตร โดย IIN ทั้ง 6 ตัวจะบอกถึง Card Brand, Issuing Bank, Card Type, Card Level, Country, Bank’s website และ Customer Care Line

“ส่วนที่สอง PAN”

. ตัวเลขบัตรเครดิตที่เหลือเรียกว่า Primary Account Number (PAN) จะจำเพาะต่อผู้ถือบัตรแต่ละคน โดยตัวเลขสุดท้ายของ PAN เรียกว่า Check digit(?) เอาไว้ตรวจสอบว่าเลขบัตรเครดิตนั้นถูกต้องหรือไม่? ตัวเลขถัดมาทางซ้ายก็จะรัน 1, 2, 3,… ตามลำดับการอนุมัติบัตรครับ ดังนั้นถ้าเลข 8 ตัวท้ายของบัตรเป็น 0000 077X ก็คือบัตรอนุมัติเป็นคนที่ 77 นั่นเองครับ

แต่ถ้าเป็นสำนัก TMB, BBL, AEON จะไม่ใช้วิธีการเรียงลำดับดังกล่าว แต่จะกำหนดเลขบัตร 4 ตัวท้ายเป็นรูปแบบที่ตายตัว คือ

X00X หรือ X01X สำหรับ TMB 
X11X-X14X สำหรับ BBL และ 
XX0X สำหรับ AEON ครับ

ถ้าจะเรียงลำดับให้ดูที่หลัก 8-13 หรือ 8-14 แทนครับ ตัวอย่าง ของ TMB เป็น 4050 1617 0001 100X อันนี้จะเป็นการออกบัตรในลำดับที่ 11 ของ Series นั้นๆ (ตัดหลักที่ 14-16 ออกไป)

“Check digit”

. Check digit(?) ได้มาจากการใช้ Luhn algorithm (เทคนิคของผมคือจำว่า คูณสอง ลบเก้า คูณเก้า) ตัวอย่างเช่นบัตร MasterCard เลข 16 หลักคือ 5237 1645 0365 554(?) มาคำนวณ Luhn algorithm กันดูว่าเลขสุดท้ายควรเป็นเลขอะไร?

ขั้นแรก จาก Check digit(?) ไล่ย้อนมาทางซ้ายมือให้คูณที่ตัวเลขตัวเว้นตัวด้วย 2 ตัวที่เว้นไว้ไม่ต้องคูณอะไรดังนี้
(5×2) 2 (3×2) 7 (1×2) 6 (4×2) 5 (0x2) 3 (6×2) 5 (5×2) 5 (4×2) ค่าที่คูณได้คือ (10) 2 (6) 7 (2) 6 (8) 5 (0) 3 (12) 5 (10) 5 (8)

ขั้นที่สอง ถ้าผลคูณในวงเล็บเกิน 9 ให้ลบออกด้วย 9 จะได้เป็น
(1) 2 (6) 7 (2) 6 (8) 5 (0) 3 (3) 5 (1) 5 (8)

ขั้นที่สาม นำตัวเลขทั้งหมดบวกรวมกัน จะได้เป็น
(1)+ 2+ (6)+ 7+ (2)+ 6+ (8)+ 5+ (0)+ 3+ (3)+ 5+ (1)+ 5+ (8) = 62

ขั้นสุดท้าย นำผลรวมที่ได้คูณด้วย 9 ได้ผลลัพธ์เท่าไหร่ ตัวเลขสุดท้ายคือ Check digit(?) นั่นคือ
62×9 = 558 แสดงว่า check digit คือเลข 8 นั่นเอง (แสดงว่าเลขบัตรดังกล่าวคือ 5237 1645 0365 5548 นะคร้าบบบ)

หมายเหตุ เวลาซื้อของออนไลน์ถ้าเราพิมพ์เลขบัตรถูกต้องจะขึ้นเครื่องหมายถูกสีเขียวเพราะตรวจสอบด้วย Luhn algorithm นั่นเองครับ

“Diners Club บัตรเครดิตสากลใบแรกของโลกและของไทย”

วันหนึ่งในปี ค.ศ. 1949 Frank X. McNamara (?-1957) นักธุรกิจชาวอเมริกันพร้อมกับทนายคือ Ralph E. Schneider (1909-1964) นัดรับประทานอาหารกลางวันกับ Alfred Schiffer Bloomingdale (1916-1982) ทายาทผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้า Bloomingdale ซึ่งเป็นเพื่อนกับ McNamara ที่ร้านอาหาร Major’s Cabin Grill ในนิวยอร์กซิตี้ จุดประสงค์คือเพื่อปรึกษาปัญหาทางการเงินของบริษัทของ McNamara

เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าอาหาร McNamara พึ่งรู้ตัวว่าลืมพกเงินสดติดตัวมาจึงต้องติดต่อภรรยาให้มาชำระเงินให้ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียหน้าเช่นนี้อีกเขาจึงเกิดแนวคิดทางธุรกิจที่จะทำบัตรขึ้นมาใช้แทนเงินสดโดยบริษัทจะเป็นตัวกลางระหว่างสมาชิกบัตรกับร้านอาหาร พอสิ้นเดือนสมาชิกก็เอาเงินมาชำระให้บริษัทแล้วบริษัทจะนำเงินไปจ่ายให้ร้านอาหารโดยหักค่าธรรมเนียม 4% ส่วนสมาชิกบัตรจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้บริษัท เบื้องต้น Bloomingdale ร่วมลงทุนเป็นเงินสด 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วน McNamara กับ Schneider เสี่ยงดวงด้วยการไปกู้เงินมาลงทุน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ

พวกเขาเริ่มติดต่อร้านอาหารที่จะยอมรับเงื่อนไขบัตรและหาสมาชิกโดยเริ่มต้นที่เซลล์แมนเพราะต้องพาลูกค้ามาร้านอาหารบ่อยๆ เนื่องจากเริ่มต้นที่การรับประทานอาหารบริษัทจึงมีชื่อว่า “Diners Club” กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1950 McNamara และ Schneider กลับมารับประทานอาหารที่ร้าน Major’s Cabin Grill อีกครั้งแต่พิเศษตรงที่จ่ายด้วยบัตร Diners Club (ทำจากกระดาษแข็ง) เป็นร้านอาหารร้านแรกที่รับบัตรนี้และถือเป็นการใช้บัตรเครดิตสากลเป็นครั้งแรก เหตุการณ์นี้รู้จักกันในชื่อ “First Supper”

สิ้นปีแรกมีร้านอาหารในนิวยอร์กซิตี้ยอมรับบัตร 12 ร้าน และบริษัทมีสมาชิก 20,000 คน แต่เงินสดหมุนเวียนในธุรกิจไม่เพียงพอจึงต้องของบเพิ่มจาก Bloomingdale ซึ่งยินดีเพิ่มทุนพร้อมขอสิทธิในหุ้นส่วนเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้รับการตอบรับ เขาจึงไปตั้งบริษัทแบบเดียวกันชื่อ “Dine and Sign” ที่ลอสแอนเจลิส McNamara จึงยอมรวม “Dine and Sign”เข้ามาอยู่ใน Diners Club และแต่งตั้งให้ Bloomingdale เป็นรองประธาน

ค.ศ. 1952 McNamara มองไม่เห็นว่าบริษัทจะรุ่งจึงตัดสินใจขายหุ้น 70% ของเขาให้หุ้นส่วนอีกสองคนในราคา 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ Schneider ดำรงตำแหน่งประธานต่อแต่บริษัทก็เติบโตอย่างช้าๆจนกระทั่ง ค.ศ. 1955 Bloomingdale ดำรงตำแหน่งประธานเขาบริหารงานเป็นอย่างดีจนบัตรได้รับความนิยมไปทั่วโลก แม้จะไม่ใช่ผู้คิดค้นบัตรเครดิตแต่การที่ทำให้มันเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทำให้ Bloomingdale ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งบัตรเครดิต(Father of credit card)

ค.ศ. 1957 McNamara ถังแตกจากการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลัน

ค.ศ. 1964 Schneider เสียชีวิต Bloomingdale ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อหุ้นในส่วนนี้จึงต้องดึงบริษัท Continental Insurance Company เข้ามา หุ้นส่วนใหม่พยายามที่จะครอบครองบริษัทตลอดจนในที่สุด ค.ศ. 1969 Bloomingdale ก็ลาออกจากประธานพร้อมติดสัญญาเป็นที่ปรึกษาตลอดชีวิต(เพื่อห้ามไม่ให้เขาไปทำงานให้บริษัทคู่แข่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในตอนนั้นคือ American Express)

ค.ศ. 1969 บริษัท ไดเนอร์สคลับ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกบัตรเครดิตเป็นรายแรกในประเทศไทยและถือเป็นบัตรเครดิตสากลใบแรกของไทย

ค.ศ. 1981 Citibank ซื้อกิจการ Diners Club

ค.ศ. 1982 Bloomingdale เสียชีวิต

ค.ศ. 2008 Citibank ขายกิจการ Diners Club ให้กับ Discover Financial Services ปัจจุบันด้านหลังของบัตร Diners Club จึงมีตราสัญลักษณ์ของ Discover นั่นเอง

15 ธันวาคม ค.ศ. 2016 บัตรเครดิตไดเนอร์สคลับ ยุติการดำเนินกิจการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เรียกได้ว่าเข้าเมืองไทยเป็นค่ายแรกและออกไปเป็นค่ายแรกเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
Carey CW. American Inventors, Entrepreneurs, and Business Visionaries. Fact On File Inc. New York 2002:30-31.

“บัตรเดบิตใช้แทนเงินสดได้นะ”

เนื่องจากการใช้เงินสดมีต้นทุนหลายอย่างทั้งค่าใช้จ่ายในการผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา ความเสี่ยงต่อการสูญหาย รวมถึงเอกสารธุรกรรมการเงินต่างๆ ระบบการชำระเงินของโลกทุกวันนี้จึงมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน คือ การลดใช้เงินสดและพัฒนาการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มาทดแทน 

เทคโนโลยีการชำระเงินมีทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิตและ Mobile payment ต่างๆ บัตรเครดิตนั้นต้องมีการสมัครไม่ว่าจะด้วยเกณฑ์เงินเดือนขั้นต่ำ(บวกอายุงานอีก) เกณฑ์ผู้มีเงินออมหรือการเปิดบัญชีฝากค้ำ ผู้ที่มีโอกาสใช้บัตรเครดิตจึงอยู่ในวงจำกัด ไม่เหมือนบัตรเดบิตที่เพียงเปิดบัญชีธนาคารก็สามารถสมัครบัตรได้ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน/นักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มคนเริ่มทำงานไม่นานหรือกลุ่มบุคคลทั่วไป ผู้ที่ครอบครองบัตรเดบิตจึงมีมากกว่า ปัจจุบันคนไทยมีบัตรเดบิตกว่า 54 ล้านใบ คือเยอะมากกก แต่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้เป็นบัตรเอทีเอ็มกดเงินสดออกมาใช้เท่านั้น จึงอยากเชิญชวนให้มาใช้บัตรเดบิตในชีวิตประจำวันแทนเงินสดเพื่อส่งเสริมการใช้ e-Payment และลดการใช้เงินสดในภาพรวมใหญ่ทั่วประเทศ 

ข้อดีของการใช้บัตรเดบิตเท่าที่แอดมินนึกออกคือ
1. ไม่ต้องพกเงินสดให้เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมหรือทำเงินหาย
2. ไม่จำเป็นต้องหาธนบัตรหรือเหรียญมาจ่าย ตัดปัญหาความวุ่นวายในการนับเงิน หรือ ทอนเงินผิด และช่วยเราได้ถ้ามีเงินสดไม่พอในขณะนั้น ไม่ต้องเดินตามหาตู้ ATM
3. ไม่เป็นหนี้ไม่มีปัญหาการใช้เงินเกินตัวเพราะเป็นการหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของเราเองนั่นคือ มีเท่าไหร่ก็ใช้ได้เท่านั้นเรียกว่าเป็นการใช้แทนเงินสดจริงๆ ต่างกับบัตรเครดิตที่รูดแล้วค่อยจ่ายทีหลังซึ่งหากผู้ถือบัตรมีเงินไม่พอชำระตามจำนวนที่เรียกเก็บหรือจ่ายเกินวันครบกำหนดก็จะมีดอกเบี้ยตามมา (บริษัทข้อมูลเครดิตพบว่า ครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 มีหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค และ/หรือหนี้บัตรเครดิต) เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยทางการเงินการใช้บัตรเดบิตจะเหมาะสมกว่านะครับ
4. สามารถใช้จ่ายทางออนไลน์ได้ด้วยอย่างเช่น เว็บ https://his.in.th/ ก็รับบัตรเดบิต เป็นต้น
5. สามารถดูรายการการใช้จ่ายต่างๆ ได้ง่ายๆผ่าน Mobile banking application ของธนาคารจะได้รู้ว่าเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง สะดวกต่อการวางแผนการใช้เงินครับ
6. เรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน บัตรเดบิตมาตรฐานไทยเป็นระบบ Chip & PIN คือมีชิปการ์ดช่วยป้องกันการคัดลอกข้อมูลได้และมีระบบกด PIN ด้วยครับ นอกจากนี้ถ้ากังวลเรื่องความปลอดภัยท่านสามารถตั้งค่าการใช้งานบัตรเดบิตเป็นศูนย์บาทได้ครับ หรืออีกวิธีคือใช้ 2 บัญชีแยกเป็นบัญชีหลักกับบัญชีที่ผูกกับบัตรเดบิต เดี๋ยวนี้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันสะดวกสบายไร้ค่าธรรมเนียมอีกต่างหาก เวลาจะใช้บัตรเดบิตค่อยโอนเงินจากบัญชีหลักเข้ามาก็ได้ครับ

ว่าแต่ทางร้านค้าล่ะพร้อมรับบัตรเดบิตกันหรือยัง? การรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดต้นทุนจัดการเงินสดและเช็คของร้านค้า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ลดโอกาสเกิดความผิดพลาดจากการใช้เงินสด ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ร้านค้าจะมีภาระค่าธรรมเนียมการรับบัตรเพิ่มขึ้นมาอุปกรณ์รับชำระเงินผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่อง EDC จึงยังไม่แพร่หลาย โครงการ National e-Payment ของรัฐบาลจึงช่วยเหลือเรื่องนี้โดยกำหนดให้ร้านค้าเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 0.55% สำหรับการรับบัตรเดบิต นั่นก็คือการซื้อสินค้าราคา 100 บาท จะมีค่าธรรมเนียมการรับบัตรเดบิตซึ่งธนาคารเรียกเก็บจากร้านค้าไม่เกิน 55 สตางค์ (จากเดิมที่ธนาคารเรียกเก็บจากร้านค้าในอัตรา 1.5-2.5%) นอกจากนี้ร้านค้าไม่ต้องเสียค่าเช่าหรือค่าติดตั้งอุปกรณ์ อีกด้วย (อาจมีค่ามัดจำ ประกันอุปกรณ์เสียหาย) กรณีรับบัตรเครดิตจะเสียค่าธรรมเนียมสูงกว่าที่ 2-3% ตามระดับของบัตรเครดิต 

ถนนทุกสายมุ่งสู่ “สังคมไทยไร้เงินสด” ถ้าร้านมีเครื่อง EDC และรับบัตรเดบิตจะไม่พลาดโอกาสทางการขายนะคร้าบบบ^^