“กำเนิดเครื่องเอทีเอ็ม”


ภาพพระราชทาน โดยพระราชานุญาต

วันหนึ่งในปีค.ศ. 1965 นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ John Adrian Shepherd-Barron (1925–2010) ผู้จัดการบริษัทพิมพ์ธนบัตร De La Rue เดินทางไปธนาคารเพื่อขึ้นเงินจากเช็คในช่วงสุดสัปดาห์แต่ว่าไปช้าเพียง 1 นาทีหลังเวลาปิดทำการทำให้ต้องรอขึ้นเงินในวันเปิดทำการถัดไป(เป็นใครก็หงุดหงิด)

ขณะนอนแช่น้ำในบ้านเครื่องจำหน่ายช็อกโกแลตอัตโนมัติได้ผุดขึ้นมาในความคิดของเขาและเกิดไอเดียว่าก็เปลี่ยนจากจำหน่ายช็อกโกแลตเป็นจำหน่ายเงินสดแทนสิ เขาเสนอแนวคิดนี้ให้กับผู้บริหารธนาคารบาร์เคลย์ (Barclays) ซึ่งเห็นดีเห็นงามด้วย เครื่องถอนเงินอัตโนมัติเครื่องแรกของโลก De La Rue Automatic Cash System (DACS) จึงกำเนิดขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “BARCLAYCASH” [ปัจจุบันเรียกว่าเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติหรือตู้เอทีเอ็ม (Automatic teller machine: ATM)]

ธนาคารบาร์เคลย์ สาขาเอ็นฟิลด์(Enfield) ในตอนเหนือของกรุงลอนดอน ให้บริการตู้เอทีเอ็มเป็นเครื่องแรกของโลก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1967 ในวันเปิดตัวได้รับเกียรติจาก Sir Thomas Bland รองประธานธนาคารทำการเปิดม่าน ในขณะที่นักแสดงตลกชาวอังกฤษ Reginald Alfred “Reg” Varney (1916–2008) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากซิตคอมเรื่อง “On the Buses” ได้ทำการถอนเงินเป็นคนแรกโดยใช้ใบสั่งจ่ายพิเศษที่ทำจากกระดาษและกดใส่รหัส(PIN)

ตอนแรก Shepherd-Barron เสนอว่ารหัสสำหรับกดเงินควรมีความยาว 6 หลัก แต่เนื่องจากทดสอบกับภรรยา Caroline แล้วพบว่าจำรหัสได้สูงสุดแค่ 4 หลักเขาจึงปรับลดเป็น 4 หลัก เนื่องจากต้องฝังเครื่องอยู่ในผนังเขาจึงจดลิขสิทธิ์ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “Hole in the Wall(รูในผนัง)”

ตู้เอทีเอ็มนี้ถอนเงินได้เพียงครั้งละ 10 ปอนด์เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้สร้างความตื่นเต้นและแปลกใหม่ให้กับผู้คนสมัยนั้นมาก ธนาคารบาร์เคลย์ตกลงที่จะติดตั้งตู้เอทีเอ็มชุดแรก 6 ตู้ และต่อมาขยายเป็น 50 ตู้

ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดให้บริการเงินด่วนเอทีเอ็มเป็นธนาคารแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2526(ค.ศ. 1983) การเริ่มต้นใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเป็นตู้เอทีเอ็มที่ไม่ได้ติดตั้งที่สาขาธนาคารแต่เป็นที่ตึกธุรการที่ประทับ พระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นบุคคลแรกที่มาทดลองใช้บริการและพระราชทานบัตรให้แก่ธนาคารฯ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยจึงนำมาจัดแสดงไว้ให้ประชาชนได้ชม

สำหรับตู้เอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์ตู้แรกที่นำร่องให้บริการต่างจังหวัดคือที่พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ครับ

ระยะแรกบริการเอทีเอ็มในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายแบงก์เนต นำโดยธนาคารกรุงเทพ และเครือข่ายสยามเนต นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ต่อมาเพื่อความสะดวกแก่ประชาชนในปี พ.ศ. 2536(ค.ศ. 1993) ธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวมกันจัดตั้งเครือข่ายเอทีเอ็มเป็นเครือข่ายเดียวทั่วประเทศเรียกว่า ATM Pool ธุรกรรมที่ทำผ่านเครื่องเอทีเอ็มจะส่งไปประมวลผลผ่านบริษัทศูนย์ประมวลผล จำกัด (Processing Center Company Limited: PCC) ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท National ITMX นั่นเอง

พ.ศ. 2536(ค.ศ. 1993) ธนาคารกรุงเทพพลิกปรากฎการณ์ ATM ของไทย เปิดตัว “บัตรบัวหลวงพรีเมียร์” บัตร ATM ไทยใบแรกที่ใช้ได้ทั่วโลก เบิกเงินสดที่ตู้ใดก็ได้ในเครือข่าย PLUS(โฆษณาเปิดตัวบัตรบัวหลวงพรีเมียร์>>> https://www.youtube.com/watch?v=d_pYIob7Wuo) จากนั้นพัฒนามาเป็นบัตรเดบิต VISA Electron ที่ใช้จ่าย เบิกถอนได้ทั่วโลก อย่าง Be1st

ค.ศ. 2007 Shepherd-Barron ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่าพึ่งเห็นความสำคัญของสิ่งประดิษฐ์ของเขาเมื่อตอนมาเที่ยวเชียงใหม่กับภรรยา นอกจากนี้ยังได้ทำนายไว้ว่าอีกไม่กี่ปีคนจะไม่ใช้เงินสดแต่ใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน น่าเสียดายเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2010 ก่อนสิ่งที่ทำนายไว้จะเริ่มเป็นจริง

พ.ศ. 2552(ค.ศ. 2009) ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ริเริ่มบัตรเดบิตติดชิพอัจฉริยะ EMV อย่างบัตรเดบิต Be1st Smart – VISA ก่อนจะหันหลังให้กับ VISA แล้วมาพัฒนาบัตรเดบิต Be1st Smart มาตรฐานชิพการ์ดไทยที่มีระบบ Chip and PIN เป็นธนาคารไทยแห่งแรก ร่วมกับ Thai Payment Network(TPN) – China UnionPay โดยใช้ PIN 6 หลักตามที่ Shepherd-Barron ตั้งใจไว้แต่แรก นำไปสู่มาตรฐานบัตรเดบิตของไทยในเวลาต่อมา

ที่มา:
http://news.bbc.co.uk/2/hi/business/6230194.stm
https://www.theguardian.com/money/gallery/2007/jun/27/1
http://www.thaibankmuseum.or.th/museum305_2.php

Leave a comment